วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จดหมายถึงอาจารย์สุระ

เรียน อาจารย์สุระที่เคารพ

ผมต้องใช้เวลา 4 ปี กว่าจะได้มีโอกาสเขียนจดหมายฉบับนี้ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณ อาจารย์สุระเป็นอย่างสูง สำหรับหนังสือสองเล่มของอาจารย์ ที่ได้ช่วยเปลี่ยนชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างผมให้สามารถยืนด้วยขาตัวเองอย่างภาคภูมิ แม้ยังไม่แตะเงินล้านอย่างเพื่อนๆ ที่ทำมาพร้อมกันหลายต่อหลายคนก็ตาม

ปีแรก ปลายปี 2013 - ต้นปี 2014 ผมได้รู้จักหนังสือ รวยทะลุเลนส์ กับ แชะ!! รวยด้วยภาพถ่าย ผมใช้เวลาอ่านหนังสือสองเล่มนี้ประมาณ 2 อาทิตย์ จากนั้นผมเริ่มส่งภาพสอบไปที่ Shutterstock ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤตชีวิตของผมพอดี บริษัทที่ทำงานอยู่กำลังปลดคน และมีแนวโน้มจะปิดบริษัท ผมส่งภาพครั้งแรกตก ส่งภาพครั้งที่สองตกอีก แต่ไม่ถอดใจ ผมเริ่มศึกษาการถ่ายภาพเบื้องต้น เรียนรู้เรื่อง รูรับแสง, สปีดชัตเตอร์, องค์ประกอบภาพ รวมถึง วิธีการถ่ายภาพในลักษณะต่างๆ ส่งสอบครั้งที่สาม ผ่าน 8 ตก 2 ใช้เวลา 3 เดือนพอดี

ช่วงปีแรกผมส่งภาพตกบ้าง ผ่านบ้าง ใครว่าถ่ายแนวไหนขายดี ก็ทำตามเค้าหมด จบปีแรก ปี 2014 ได้เงินมาประมาณ 100 เหรียญ อ้อลืมบอกไปครับ สิ้นปีนั้นผมตกงานพอดี

ปีที่สอง ปี 2015 หลังจากตกงาน ก็เริ่มหันมาถ่ายภาพอย่างจริงจัง ถ่ายทุกอย่างที่ขวางหน้าจริงๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นภาพวัด และรูปที่เค้าว่าขายดี ใครว่าถ่ายท้องฟ้าดีก็ถ่ายท้องฟ้า ใครว่าถ่าย Background ดีก็ถ่าย Background ใครทำหลังขาวผมก็ทำด้วย แต่ก็ขายไม่ค่อยได้ สมองเริ่มตันอาจเพราะทำตามคนอื่นมากไป จากนั้นผมจึงเริ่มหันมาทำงาน Vector เพิ่มเติม ปรากฏว่าทำให้ยอดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้ โชคดีที่ยัง จบ ป.1 ในปีที่สองเนี่ยเอง

ปีที่สาม ปี 2016 ต้องบอกว่าเป็นปีที่ผมท้อแท้ที่สุด แบบว่าคงเลิกทำแล้วล่ะ ผมเริ่มไม่ส่งงาน เริ่มมีปัญหาครอบครัว ผมออกหางาน และได้ทำงานประจำที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ก็บอกตรงๆ ว่าทำงานได้ไม่ถึงสามเดือนผมรู้เลยว่า ผมไม่เหมาะกับชีวิตมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไป มันเริ่มอยากออกไปถ่ายภาพมากกว่า แต่ถ้าจะลาออก เพื่อกลับไปทำงาน Stock  อีกครั้ง ต้องวางแผนให้ดีกว่าปีที่ผ่านๆ มา ไม่งั้นคงเจอปัญหาแบบเดิม ผมอ่านหนังสือสองเล่มของอาจารย์แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมเริ่มดูงานติดป๊อปมากขึ้นเพื่อเก็บเอาไอเดียมาใช้ (จริงๆ นั่งดูทุกวัน) ก่อนออกไปถ่ายรูปต้องวางแผนว่าจะไปถ่ายอะไรบ้าง ขั้นต่ำต้องได้ภาพกลับมากี่ใบ และคิดทุกครั้งก่อนลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพ  ขณะที่งาน Vector ผมเริ่มเน้นงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ตอนนั้นทำทั้งงานประจำ และทำภาพส่ง พอเห็นว่าทิศทางดีขึ้น คือเริ่มมีโหลดทุกวัน เสาร์อาทิตย์ไม่กินไข่ ปลายปี 2016 ผมขออนุญาตภรรยา ลาออกจากงานอีกครั้ง

ปีที่สี่ ปี 2017 ผมกลับมาตกงานอีกครั้งอย่างตั้งใจ ผมยังทำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง แบ่งเวลาทำงาน เป็น ถ่ายภาพ และทำ Vector อย่างละครึ่งๆ ชัดเจน ปรากฏว่าได้ผลครับ กลางเดือนกุมภาพันธ์พอดี ผมจบ ป. 2 โดยยึดหลัก วางแผน, ลงมือทำ, เรียนรู้ตลอดเวลา และนำความรู้ไปพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ครบปีที่สี่ กับภาพประมาณ 8,000 กว่าใบ (ใจจริง ตั้งไว้หมื่นใบ แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรครับ) วันนี้ผมเหมือนเด็กเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี แต่ก็ยังมีภูเขาอีกลูกที่ผมต้องข้ามไปให้ได้ในปีหน้า

ตอนนี้รายได้ไม่มากมาย ใช้ประหยัดๆ หน่อย ก็พออยู่ได้ ดีตรงไม่ต้องตื่นไปทำงาน ไม่ต้องไปติดแง๊กอยู่บนถนนเช้าเย็น ไม่ต้องค่อยระวังสีหน้าเพื่อนร่วมงาน แค่นี้ก็มีความสุขมากกว่าตอนเป็นมนุษย์เงินเดือนมากมายแล้ว เดี๋ยวนี้ใครถามว่าทำงานอะไร ผมก็ตอบได้เต็มปากว่าเป็นช่างภาพอิสระ ส่งรูปขายเมืองนอก ฟังดูมันก็เท่ห์ดีทีเดียว

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณอาจารย์อย่างสูงอีกครั้ง ที่ทำให้ผมรู้จักอาชีพนี้ และปูพื้นฐานที่ดีให้กับผมและใครอีกหลายคนในประเทศนี้ หวังว่าสิ้นปีหน้า จะได้มีโอกาศเขียนจดหมายฉบับที่สองอีกครั้งเมื่อได้แตะเงินล้านแบบเพี่อนรุ่นเดียวกัน

ขอแสดงความนับถือ

ธีระพงษ์.





วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการส่งภาพขาย

ก่อนอื่น มารู้จัก กับ Photostock ก่อนนะครับ Photostock หรือ มีบางคนก็เรียกว่า Microstock ซึ่งนั่นการคือ การขายภาพ ผ่านตัวแทน โดยการที่เราอัพโหลดภาพ เพื่อสร้างเป็น Portfolio หรือหน้าร้าน ไว้กับ ตัวแทนนั้น ไม่ว่าจะเป็น Shutter stock, Istock หรือ fotolia เป็นต้น

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อ่านภาพถ่ายให้เหมือนการอ่านหนังสือ

ถอดความจาก บทความ เรื่อง How to Read A Photograph Like a Book

คุณอ่านภาพถ่ายอย่างไร ?  เมื่อช่างภาพมืออาชีพมองภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพท่านอื่น. คุณคิดว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ในใจ ? คุณอยากรู้ไหมว่ามืออาชีพคิดอย่างไร ? คุณต้องการรู้วิธีการอ่านภาพถ่ายใช่ไหม ?